วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทความที่ 2

ลิสทีเรีย ภัยร้ายจากอาหาร 

     เชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) เป็นสาเหตุของโรคลิสเทอริโอซิส (Listeriosis) โดยเป็นเชื้อที่สามารถมีชีวิตรอดได้ที่อุณหภูมิหลากหลายตั้งแต่ 0 องศาเซลเซียส และสามารถทำลายเชื้อได้ด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส Listeria spp. มี 10 สปีชี่ส์ได้แก่ L. fleischmannii L. grayi L. innocua L. ivanovii L. marthii L. monocytogenes L. rocourtiae L. seeligeri L. weihenstephanensis และ L. welshimeri

ที่มา : http://www.cdc.gov/vitalsigns/listeria/index.html

   
     โรคนี้สามารถเกิดได้จากการกินเชื้อปนเปื้อนในอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่ไม่ได้มีการให้ความร้อนหรือปรุงสุกเพียงพอ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนได้แม้จะมีการนำเอาอาหารเหล่านั้นเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นก็ตาม

     โรคลิสเทอริโอซิสเป็นโรคที่อาจพบได้ไม่บ่อยในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเช่น เด็กทารก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเอดส์ รวมถึงผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการแท้งได้ในรายตั้งครรภ์ และทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้หากรักษาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้รับเชื้อลิสทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยมากมักจะแสดงอาการใน 30 วันหลังจากรับเชื้อ ซึ่งในรายที่ไวต่อโรคอาจแสดงอาการได้หลังจากรับเชื้อเพียง 1 วัน โดยเมื่อเชื้อเข้าสู้ร่างกายจะรุกรานเข้ากระแสเลือดผ่านทางลำไส้เล็ก ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการที่หลากหลายโดยขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อ ซึ่งบริเวณที่มีการติดเชื้อที่สามารถพบได้บ่อยคือ เยื่อหุ้มสมอง สมอง เยื่อบุหัวใจ กระเพาะอาหารและลำไส้ เยื่อบุช่องท้อง ตา ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงรกของสตรีมีครรภ์

อาการและความรุนแรงสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม 
 
     1. ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจพบแค่ว่ามีไข้ร่วมกับอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง โดยมากมักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน หลังการรักษา หรือสามารถหายได้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หรืออาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรง

     2. ในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสียง มักพบว่ามีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียรุนแรง ซึ่งอาการในระยะแรกจะคล้ายไข้หวัดใหญ่หรืออาหารเป็นพิษ แต่อาการจะรุนแรงกว่าและมีภาวะติดเชื้อที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย ในสตรีมีครรภ์อาจพบการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ หากทารกคลอดออกมาอาจมีภาวะติดเชื้อและเสียชีวิตในภายหลังได้

การป้องกันเบื้องต้น 

     1. ทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ที่สัมผัสกับอาหารและล้างมือก่อนหยิบจับเครื่องใช้หรืออาหารก่อนทุกครั้งเพื่อลดโอกาสปนเปื้อน

     2. แยกอาหารสดที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อออกจากอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงและฆ่าเชื้อแล้ว หรืออาหารที่สามารถกินได้โดยไม่ต้องผ่านการปรุง เช่น ผลไม้

     3. ควรปรุงอาหารให้สุกหรืออุ่นให้ร้อนก่อนทำการบริโภค

     4. ควรเก็บรักษาอาหารไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (ช่องแช่เย็น) หรือต่ำกว่า รวมทั้งไม่นำอาหารออกมาวางในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน เพื่อลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อ

แนวทางการรักษา 

      พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย โดยการเล่าประวัติอาหารที่บริโภค ทำการตรวจร่างกาย และตรวจเฉพาะโรคต่อไป โดยมั่วได้รับผลยืนยันแล้วแพทย์อาจทำการรักษาโดย 1.ใช้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อ และ 2.รักษาประคับประคองอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ปวด ให้เกลือแร่ หรือสารน้ำเป็นต้น ซึ่งโดยมากหากมีสุขภาพแข็งแรงสามารถหายได้ใน 7-10 วัน หลังจากรับการรักษา หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และอาจนานขึ้นถึง 3-6 สัปดาห์หากมีการติดเชื้อในสมอง

อ้างอิง 

พวงทอง ไกรพิบูลย์. ลิสเทริโอซิส (Listeriosis) หรือ ลิสทีเรีย (Listeria). แหล่งที่มา : http://haamor.com/th/ลิสทีเรีย . สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2558.

รัฐพงศ์ รัตนภุมมะ. 2548. ข่าวประจำวัน : โรคลิสทีเรียกับคาวมปลอดภัยในการบริโภคอาหาร. แหล่งที่มา : http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id=892 . สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2558.

พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และนิธิยา รัตนาปนนท์. Listeria / ลิสทีเรีย. แหล่งที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1307/listeria-ลิสทีเรีย. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. แผ่นข้อมูลโรคติดต่อ โรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis). แหล่งที่มา : http://www.mhcs.health.nsw.gov.au/publicationsandresources/pdf/publication-pdfs/7145/doh-7145-tha.pdf. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes). แหล่งที่มา : http://fic.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/listeria_monocytogenes2.pdf . สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2558.

Unknown author. Listeria (Listeriosis). แหล่งที่มา : http://www.cdc.gov/listeria . Last seen 30 June 2015.

Unknown author. Listeria. แหล่งที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Listeria . Last seen 30 June 2015.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น