วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แบบฝึกหัดที่บทที่ 8 การใช้สารสนเทศตามกฎหมายและจริยธรรม

แบบฝึกหัด

บทที่ 8 การใช้สารสนเทศตามกฎหมายและจริยธรรม        กลุ่มที่เรียน 2

รายวิชาการจัดการสารสนเทศยุคใหม่ในชีวิตประจำวัน             รหัสวิชา 0026 008

ชื่อ –สกุล คริสโตเฟอร์ เจมส์ สต๊อต                                รหัส 52011812006

 1."นาย Aทำการเขียนโปรแกรมขึ้นมาโปรแกรมหนึ่งเพื่อทดลองโจมตีการทำงานของคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้ โดยทำการระบุ IP-Address โปรแกรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อทดลองในงานวิจัย นาย Bที่เป็นเพื่อนสนิทของนาย Aได้นำโปรแกรมนี้ไปทดลองใช้แกล้งนางสาว Cเมื่อนางสาว Cทราบเข้าก็เลยนำโปรแกรมนี้ไปใช้และส่งต่อให้เพื่อนๆที่รู้จักได้ทดลอง"การกระทำอย่างนี้เป็นการผิดจริยธรรมหรือผิดกฎหมายใดๆหรือไม่ หากไม่ผิดเพราะเหตุใด และหากผิด ผิดในแง่ใด จงอธิบาย

นาย A อาจมีความผิดในมาตราที่ 6 พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตราที่ 13 พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากนาย A รู้วิธีและนาย B ทราบถึงวิธีการของนาย A (คือตัวโปรแกรม) ดังนั้นโดยจรรยาบรรณนาย A ควรมีการเข้ารหัสหรือป้องกันการนำโปรแกรมไปใช้ ทั้งนี้อาจต้องพิจารณาตามเจตนาและการกระทำ ซึ่งนาย A อาจจะเปิดเผยตัวโปรแกรมหรือไม่ก็ได้ หรืออาจเป็นนาย B ที่มีการนำเอาโปรแกรมไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ได้
นาย B อาจมีความผิดในฐานะละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่ได้รับการยินยอมโดยนาย A ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 สำหรับความผิดของนาย B ที่พบได้คือ มาตราที่ 5 พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับนาย B นั้นอาจมีการผิดในมาตราที่ 6-13ได้ ตามระดับความเสียหายของนางสาว C อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการระบุไว้ว่าลักษณะการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้นมีรูปแบบเช่นไร และสร้างความเสียหายอย่างไร และนาย B ได้เผยแพร่ตัวโปรแกรมให้นางสาว C หรือไม่ หรือนางสาว C ได้รับตัวโปรแกรมมาจากใคร
นางสาว C จะมีความผิดตามมาตราที่ 5 มาตราที่ 6 และมาตราที่ 13 พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 เนื่องจากมีการนำไปใช้และเผยแพร่ให้กับผู้อื่น และอาจมีความผิดตามมาตราที่ 7-12 พรบ. คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายและความผิดในการนำไปใช้ รวมทั้งอาจมีการละเมิดสิทธิ์ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 อีกด้วย
สรุป
นาย A ผิดจรรยาบรรณ นอกจากนี้อาจจะผิดตามมาตรา 6 และ 13 ขึ้นกับการกระทำและเจตนา
นาย B ผิดตามมาตราที่ 5 นอกจากนี้อาจจะผิดตามมาตราที่ 6 7 8 9 10 11 12 13 ได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้และความเสียหายที่เกิดขึ้น
นางสาว C ผิดตามมาตราที่ 5 6 และ 13 นอกจากนี้อาจผิดตามมาตราที่ 7 8 9 10 11 12 ได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้และความเสียหายที่เกิดขึ้น

 2."นาย J ได้ทำการสร้างโฮมเพจ เพื่อบอกว่าโลกแบนมีหลักฐานอ้างอิงจากตำราต่างๆอีกทั้งรูปประกอบ เป็นการทำเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้ใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการใดๆเด็กชาย K เป็นนักเรียนในระดับประถมปลายที่ทำรายงานส่งครูเป็นการบ้านภาคฤดูร้อนโดยใช้ข้อมูลจากโฮมเพจของนาย J" การกระทำอย่างนี้เป็นการผิดจริยธรรมหรือผิดกฎหมายใดๆหรือไม่ หากไม่ผิดเพราะเหตุใด และหากผิด ผิดในแง่ใด จงอธิบาย


นาย J ทำความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ในมาตราที่ 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อที่ 1 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งจากการกระทำพบว่ามีคนนำเอาข้อมูลที่เป็นเท็จไปใช้ และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวผู้นำไปใช้เอง ทั้งในเชิงทัศนคติและชิ้นงานซึ่งนำไปส่งที่อาจจะเสียคะแนนในการทำงานไป

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความที่ 4 : สเตอรอยด์และอันตราย

สารสเตอรอยด์และอันตราย

สเตอรอยด์ (steroid) เป็นสารชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยมีลักษณะเป็นลิพิด (lipid) ซึ่งประกอบด้วยวงแหวนคาร์บอนจำนวน 4 วง เชื่อมต่อกัน ประเภทของสารในกลุ่มสเตอรอยด์ได้แก่

1.    แอนนาบอลิก สเตอรอยด์ (anabolic steroid)

2.    คอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroid)

3.    ฮอร์โมนเพศ (sex hormone)

4.    โปรฮอร์โมน (prohormone)

5.    ไฟโตสเตอรอล (phytosterol)

สเตอรอยด์ ประเภทคอร์ติโคสเตอรอยด์และฮอร์โมนเพศมีความสำคัญคือเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex) ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีความสำคัญต่อร่างกาย ในทางการแพทย์ได้มีการสังเคราะห์สารเหล่านี้มาเพื่อใช้เป็นยาต้านอักเสบและแก้แพ้ ทำให้สามารถใช้รักษาโรคได้กว้างขวาง สำหรับรูปแบบของสเตอรอยด์ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์สามารถแบ่งออกหยาบๆตามรูปแบบของยาได้เป็นสองรูปแบบ

1.    สเตอรอยด์ประเภทใช้ภายนอก
เป็นสเตอรอยด์ที่มุ่งหวังในการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่โดยไม่จำเป็นต้องกินหรือฉีดยา ทำให้สามารถลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยาได้ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านี้ยังคงต้องใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลที่ไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างรูปแบบยาที่ใช้ภายนอกได้แก่
-         ยาทา ทั้งในรูปของครีม โลชัน หรือขี้ผึ้ง สำหรับรักษาผื่นแพ้ ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ-คัน สะเก็ดเงิน
-         ยาหยอดตาและยาหยอดหู สำหรับรักษาภูมิแพ้หรือการอักเสบที่ตาและหู
-         ยาพ่นจมูก สำหรับรักษาโรคภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก ริดสีดวงจมูก
-         ยาพ่นคอ สำหรับรักษาโรคหืด ภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการหอบ

2.    สเตอรอยด์ประเภทกินและฉีด
เป็นสเตอรอยด์ที่ต้องรับเข้าไปภายในร่างกาย เช่น การกินเข้าไป หรือการฉีดให้ทางผิวหนังหรือหลอดเลือด ใช้สำหรับการรักษาโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น อาการแพ้ที่รุนแรง อาการหืดที่รุนแรง หรือภาวะภูมิไวเกิน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตามการรับยากลุ่มนี้ในปริมาณมาก หรือได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะส่งผลต่อภาวะไม่พึงประสงค์ เช่น กดภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย ภาวะต้านอินซูลินหรือเบาหวานเทียม บวมน้ำและความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน รวมทั้งแผลหลุมในระบบทางเดินอาหาร การหย่อยยานของผิวหนัง ต้อที่ตา ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น
อันตรายที่สามารถพบได้จากการใช้สารกลุ่มสเตอรอยด์ ได้แก่

-         การติดเชื้อ
การใช้สเตอรอยด์ในขนาดที่สูงจะมีผลในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งบดบังอาการแสดงออกของโรคติดเชื้อ ทำให้ตรวจพบโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว

-         กดการทำงานของระบบที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน
เนื่องจากระบบที่ทำงานควบคุมการหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มนี้จะประกอบด้วย ฮัยโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และต่อมหมวกไต ในภาวะที่มีระดับของคอร์ติซอล (cortisol) ในกระแสเลือดสูงจะมีการไปกระตุ้นฮัยโปธาลามัสให้ส่งสัญญาณไปยังต่อมหมวกไตให้ลดการสร้างสเตอรอยด์ การให้ในปริมาณมากๆจะไปกดการทำงานของระบบเหล่านี้ เมื่อมีการหยุดให้ยาจะทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนชนิดนี้อย่างกระทันหัน

-         แผลในกระเพาะอาหาร
เนื่องจากสเตอรอยด์มีผลในการทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนของเก่าที่หลุดลอกไป ทั้งยังพบว่าสามารถทำให้มีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

-         ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและอารมณ์ได้ โดยการให้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอารมณ์มีความสุข ส่งผลต่อการติดยาได้ นอกจากนี้ยังพบภาวะอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนหลับดีเกินไป กระสับกระส่าย หงุดหงิด เครียด เป็นต้น

-         ภาวะไม่พึงประสงค์อื่นๆ
o   กระดูกพรุน
o   ยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
o   โปแทสเซียมในเลือดต่ำ
o   กล้ามเนื้ออ่อนแรง
o   ความผิดปกติที่ตา
o   ผลต่อผิวหนัง
o   Cushing’s syndrome

การใช้ยาสเตอรอยด์ต้องคำนึงถึงการใช้ปริมาณที่น้อยและระยะเวลาที่สั้น เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ได้รับสเตอรอยด์โดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก จากการพยายามขวนขวายหาซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพมากินเองจากการที่ไม่ค่อยมีเวลาไม่ว่า จะเป็นยาชุด ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรชนิดต่างๆ เนื่องจากบางครั้งพบการแอบผสมสารสเตอรอยด์ เช่น เดกซาเมธาโซน (dexamethasone) หรือเพรดนิโซโลน (prednisolone) ร่วมด้วยทำให้เห็นผลทางการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ที่รับประทานจึงเชื่อว่ายาสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่จริงแล้วตัวยาสเตอรอยด์ไม่ได้รักษาอาการผิดปกติโดยตรง และเมื่อได้รับยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ อาการไม่พึงประสงค์จะยิ่งแสดงออกมามากขึ้น จนทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆตามมา ข้อควรระวังในการใช้คือ

1.    ควรใช้เท่าที่จำเป็น อย่าพร่ำเพรื่อ อย่าใช้เป็นยาแก้ปวดหรืออักเสบโดยยังไม่ทราบสาเหตุ ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ปริมาณที่น้อยและระยะเวลาที่สั้น

2.    ควรรับประทานยาลดกรดควบคู่ด้วยทุกครั้งเพื่อป้องกันการระคายกระเพาะ

3.    ผู้ป่วยที่ใช้สเตอรอยด์ติดต่อกันนานๆ เมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆลดขนาดของยาลงทีละน้อย เพื่อให้ต่อมหมวกไตค่อยๆฟื้นตัวขึ้น หากหยุดยาโดยทันทีอาจเกิดอันตรายได้ กรณีผู้ติดยาชุดหรือยาลูกหลอนที่มีสเตอรอยด์เป็นเวลานาน เมื่อต้องการเลิกยาควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางในการลดปริมาณยาลง

4.    ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีสภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกพรุน ผู้มีประวัติวัณโรค ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

5.    ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร โรคติดเชื้อรา โรคติดเชื้อไวรัส ต้อหิน หรือผู้แพ้ยากลุ่มนี้

ข้อสังเกตว่ายาที่รับประทานอยู่อาจมีส่วนผสมของสเตอรอยด์คือ

1.     ทำให้อาการปวดเมื่อยหายอย่างรวดเร็ว รู้สึกสบายเนื้อสบายตัว

2.     เจริญอาหารมากขึ้น เห็นอะไรก็รู้สึกอร่อยไปหมด รับประทานอาหารได้เยอะขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

3.     นอนหลับได้ดี

4.     เมื่อใช้ยานานๆ จะรู้สึกว่าหน้าบวม หน้าแดง ผิวหน้าบางมองเห็นเส้นเลือดฝอย ขนและหนวดเยอะขึ้น ตัวอ้วนกลม แต่แขนขาเล็ก มีก้อนโหนกของเนื้อที่ต้นคอ

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสารสเตอรอยด์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้สารสเตียรอดย์เป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งร้านขายยาจะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ยกเว้น สารสเตีย-รอยด์ ที่นำไปใช้เป็นยาเฉพาะที่ กับผิวหนัง ตา หู คอ จมูก หรือปาก ซึ่งจัดเป็นยาอันตรายและจำหน่ายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิต ขายหรือนำเข้าสารสเตียรอยด์จะต้องจัดทำบัญชีซื้อ ขาย ไว้ด้วย รวมทั้งต้องรายงานปริมาณและมูลค่าการผลิต นำเข้ายาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการควบคุม ดูแล ภายใต้กฎหมายที่บัญญัติไว้ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามความผิดที่กระทำตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติยา ดังั้น

-         ขายยาชุดที่มียาสเตียรอยด์ผสมอยู่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-         ขายยาสเตียรอยด์โดยไม่มีใบสั่งยา (กรณีเป็นยาควบคุมพิเศษ) / เภสัชกรไม่ควบคุมการขายยาควบคุมพิเศษ ปรับ 1,000-5,000 บาท

-         ผู้ประกอบการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ปรับ1,000-5,000 บาท


-         ผู้ประกอบการรายงานการผลิต/การนำเข้าไม่ตรงกับความจริง หรือไม่รายงานมาที่สำนัก-งานคณะกรรมการอาหารและยา ปรับ 2,000-10,000 บาท

อ้างอิง

ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง. 2556. ปลอดภัยหรือไม่เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid). แหล่งที่มา : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/142/สเตียรอยด์-steroid-ใช้แล้วปลอดภัยหรือไม่. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ไม่ทราบชื่อเรื่อง. แหล่งที่มา : http://www.rcost.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=13%3A2010-01-28-07-23-10&catid=19&Itemid=109. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์ Steroid คือ อะไร. แหล่งที่มา : http://www.brand-a.com/05tips/steroid.html. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์. แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สเตอรอยด์. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. รู้จักสเตียรอยด์ดีหรือยัง. แหล่งที่มา : http://webnotes.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2546.nsf/723dc9fee41b850847256e5c00332fb4/0aedb8b0fe960133c7256cbb0025d1a9?OpenDocument. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์ - Steroids. แหล่งที่มา : http://www.thailabonline.com/drug/drug20.htm. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ สเตียรอยด์. แหล่งที่มา : http://www.it-gateways.com/charoenvej/News/steroid.htm. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความที่ 3 : การให้เหตุผลอุปนัย นิรนัย และเหตุผลวิบัติ

              การให้เหตุผลอุปนัย นิรนัย และเหตุผลวิบัติ

        มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งบนโลกนี้เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นคือ มนุษย์รู้จัก การให้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดการค้นหาสิ่งใหม่ๆ และเป็นจุดเปลี่ยนซึ่งทำให้เกิดอารยธรรมของมนุษยชาติจากการรู้จักใช้เหตุผลเหล่านี้เอง

การให้เหตุผลทั้งทางคณิตศาสตร์และโดยทั่วไปมักมีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การให้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive reasoning) หรือการให้เหตุผลจากล่างขึ้นบน (bottom-up logic) หมายถึงการให้ข้อตั้งจากการสังเกตหรือทดลองหลายครั้งจากกรณีย่อยๆ แล้วสรุปเป็นความรู่ทั่วไป หรือกล่าวคือ การรวบรวมข้อมูลจากประชากรส่วนย่อย เพื่อนำไปเป็นข้อสรุปของประชากรส่วนใหญ่ เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 แดงเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แดงเป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 2                 ขาวเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขาวเป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 3                 ฟ้าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฟ้าเป็นคนดี
สรุป 1                      ดังนั้นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 4                 ดำเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สรุป 2                      ดังนั้นดำน่าจะเป็นคนดีเช่นกัน

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการให้เหตุผลแบบอุปนัย คือ 1. จำนวนของข้อมูล ควรมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่นำมาใช้เป็นข้อสังเกต หรือข้อตั้งที่มากพอต่อการสรุป 2. ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สังเกตต้องเป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากรที่ใช้เป็นข้อตั้ง

2. การให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive reasoning) หรือการให้เหตุผลจากบนลงล่าง (top-down logic) หมายถึงการนำเอาความรู้พื้นฐาน ซึ่งอาจเป็นกฎ ข้อตกลง หรือสิ่งที่ทราบมาก่อนและยอมรับว่าเป็นความจริงมาใช้เป็นข้อตั้ง เพื่อทำการสรุปภายในขอบเขตของข้อตั้งเหล่านั้น หรือกล่าวคือ การนำเอาสิ่งที่รู้มาก่อนและยอมรับว่าเป็นจริงของประชากรส่วนใหญ่ เพื่อนำไปใช้สรุปประชากรส่วนย่อย เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 ปลาทุกตัวว่ายน้ำได้
ข้อตั้งที่ 2                 ตะเพียนเป็นปลาชนิดหนึ่ง
สรุป 1                      ตะเพียนว่ายน้ำได้

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการให้เหตุผลแบบอุปนัย คือ ข้อตั้งหรือสิ่งที่ทราบมาก่อนซึ่งใช้อ้างอิงต้องถูกต้อง ไม่เช่นนั้นการสรุปผลจะผิด เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 ปลาทุกชนิดมีเกล็ด
ข้อตั้งที่ 2                 ดุกไม่มีเกล็ด
สรุป 1                      ดุกไม่ใช่ปลา

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าข้อตั้งผิดพลาด เพราะปลาจะมีทั้งชนิดเกล็ดและหนัง เป็นต้น

นอกจากข้างต้นแล้วยังมีการให้เหตุผลอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมักพบในชีวิตประจำวัน คือ เหตุผลวิบัติ (fallacy) หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนหรือเป็นเท็จเพื่อใช้สนับสนุนข้อสรุป โดยมักจะมีความน่าเชื่อถือในเชิงจิตวิทยาทำให้เกิดการคล้อยตามหรือเข้าใจผิด เป็นต้น

การจำแนกเหตุผลวิบัติเชิงสาระโดยอริสโตเติลประกอบไปด้วย

1. การละทิ้งข้อยกเว้น (accident) เช่น
การกล่าวอ้าง: การใช้ปืนยิงบุคคลคืออาชญากรรม ตำรวจใช้ปืนยิงโจรผู้ร้าย ดังนั้นตำรวจก็เป็นอาชญากร
ปัญหาที่เกิด: การใช้ปืนยิงบุคคลไม่ใช่อาชญากรรมในสถานการณ์จำเพาะ เช่น สถานการณ์ป้องกันตัว หรือคุ้มครองผู้ที่ร้องขอการคุ้มครองตามกฎหมาย

2.การสรุปเหมารวม (converse accident) เช่น
การกล่าวอ้าง: คนไทยที่ฉันเคยเห็นทุกคนมีตาสีน้ำตาล ดังนั้นคนไทยทุกคนต้องมีตาสีน้ำตาล
ปัญหาที่เกิด: คนไทยทุกคนไม่ได้มีตาสีน้ำตาล เนื่องจากบางคนอาจเป็นคนเผือกทำให้มีตาสีฟ้า หรือมีเชื้อสายต่างชาติแต่ยังถือว่าเป็นคนไทยอยู่

3. การสรุปนอกประเด็น (irrelevant conclusion) เช่น
การกล่าวอ้าง: ฉันเชื่อว่าคนสามารถบินได้ ดังนั้นคนสามารถบินได้
ปัญหาที่เกิด: คนต้นคิดอาจคิดผิด และไม่ได้มีการให้เหตุผลว่าบินได้อย่างไร

กรณีอื่นๆเพิ่มเติม
o   การโจมตีบุคคล (appeal to the person)
นาย ก : ผมต้องการผลักดันนโยบายต้านคอรัปชั่น เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นาย ข : แต่คุณก็แอบรับสินบนนี่

o   การอ้างคนหมู่มาก (appeal to the majority)
การกล่าวอ้าง : ใครๆก็ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกันทั้งนั้นแหละ เราฝ่าไปก็ไม่เป็นไร
ปัญหาที่เกิด : ความคิดหรือการกระทำที่พบเห็นคนทำกันส่วนใหญ่อาจจะผิด

o   การอ้างความภักดี (appeal to loyalty)
การกล่าวอ้าง : แกเป็นลูกชั้น แกเป็นตำรวจ แกต้องช่วยให้ชั้นไม่ติดคุก
ปัญหาที่เกิด : อาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดหรือขัดแย้งต่อหน้าที่ได้

o   การอ้างอำนาจ (appeal to force)
การกล่าวอ้าง : ถ้าคุณไม่ทำตามคำสั่งผม ผมจะไล่คุณออก
ปัญหาที่เกิดขึ้น : การใช้อำนาจเป็นข้อตั้งแทนการใช้เหตุผล

o   การอ้างปฐมาจารย์ (appeal to authority)
คล้ายตัวอย่างในกรณีแรก

o   การขอความเห็นใจ (appeal to pity)
การกล่าวอ้าง : หนูไม่สบายและมีปัญหาที่บ้าน อาจารย์ต้องอย่าให้ F หนูนะค่ะ
ปัญหาที่เกิดขึ้น : เป็นการใช้ความสงสารเรียกร้องความเห็นใจ ทั้งๆที่ผู้พูดอาจไม่ได้ตั้งใจเรียนเพียงพอ หรือแค่ใช้เป็นข้ออ้างเฉยๆ

o   การอ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance)
การกล่าวอ้าง : ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าผีไม่มีจริง เพราะฉะนั้นผีมีจริง
ปัญหาที่เกิด : ยังไม่สามารถหาหลักฐานได้ จึงไม่สามารถยืนยันได้

o   เหตุผลวิบัติสืบทอด (genetic fallacy)
เป็นกรณีที่กล่าวอ้างถึงประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป

4. การยืนยันผลและปฏิเสธเหตุ (affirming the consequent and denying the antecedent)
การกล่าวอ้าง : ถ้านายเอเป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์ นายเอจะรวย -> นายเอรวย ดังนั้นนายเอเป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์ (ยืนยันผล)
ปัญหาที่เกิด : นายเออาจจะรวยจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์

การกล่าวอ้าง : ถ้านายบีเป็นคนไทย นายบีเป็นคนมีมนุษยธรรม แต่นายบีไม่ใช่คนไทย นายบีจึงไม่มีมนุษยธรรม (ปฏิเสธเหตุ)
ปัญหาที่เกิดขึ้น : เป็นการอ้างเหตุที่ทำให้เกิดผล เมื่อไม่ได้มีเหตุดังกล่าว ดังนั้นจะต้องไม่มีผลด้วย

5. การทวนคำถาม (begging the question)
การกล่าวอ้าง : นาย ค เป็นคนไม่ดี เพราะว่านาย ค เป็นคนไม่ดี
ปัญหาที่เกิด : ข้อตั้งและข้อสรุปมีใจความอย่างเดียวกัน ไม่สามารถพิสูจน์ข้อตั้งได้

6. การยกเหตุผลผิด (false cause)
การกล่าวอ้าง : ฉันไม่ได้ยินเสียงคนอยู่ในห้องนี้ แสดงว่าในห้องนี้ไม่มีคนอยู่
ปัญหาที่เกิด : อาจจะสรุปผิด เนื่องจากในห้องอาจมีคนนอนอยู่ หรืออ่านหนังสืออยู่จึงไม่มีเสียง

รณีพิเศษ
เกิดหลังสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้
การกล่าวอ้าง : ฉันเจอหน้าเธอแล้วฉันก็ท้องเสีย ดังนั้นเธอทำให้ฉันท้องเสีย
ปัญหาที่เกิด สองเหตุการณ์ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน

เกิดพร้อมสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้
ช่วงหน้าร้อนคนนิยมไปเที่ยวทะเล และช่วงหน้าร้อนค่าไฟฟ้าแพง ดังนั้นการเที่ยวทะเลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
ปัญหาที่เกิดขึ้น : สองเหตุการณ์ไม่สอดคล้องกัน


7. การตั้งประเด็นซ้อน (complex question)
การกล่าวอ้าง : เธอเลิกยักยอกเงินเจ้านายหรือยัง ?
ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตอบอย่างไร จะนำไปสู่การยอมรับว่าเคยยักยอกเงินเจ้านาย

8. การทับถมจุดอ่อน
นางแมว : วันนี้ดีจังที่ฝนไม่ตก
นายหมา : ถ้าฝนไม่ตก เราก็จะไม่มีน้ำใช้น้ำบริโภค
ปัญหาที่เกิด : เป็นการเบี่ยงประเด็นแนวคิดโดยใช้แนวคิดอื่นทับถม

อ้างอิง

จารุวรรณ บุญชลาลัย. การให้เหตุผล. แหล่งที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18026. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. การให้เหตุผล (1). 
แหล่งที่มา : http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=86718. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. การให้เหตุผล (2). 
แหล่งที่มา : http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=86719. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2556. การให้เหตุผลแบบอุปนัย. 
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การให้เหตุผลแบบอุปนัย. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2556. การให้เหตุผลแบบนิรนัย. 
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การให้เหตุผลแบบนิรนัย. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ความแตกต่างของการให้เหตุผลนิรนัย-อุปนัย. 
แหล่งที่มา : http://202.28.25.19/mpa12cmu/tmp/ความแตกต่างของการให้เหตุผลนิรนัย.pdf. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิณดิษฐ์ ละออปักษิณ และรตินันท์ บุญเคลือบ. การให้เหตุผลและตรรกศาสตร์. 
แหล่งที่มา : http://www.academia.edu/7102413/1. บทน า เรือ ง การใหเหตุผลและตรรกศาสตร. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

KhingSaGa (นามแฝง). 2558. การให้เหตุผลแบบอุปนัย-นิรนัย. 
แหล่งที่มา : http://khingkhingkhing.exteen.com/20150514/entry. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิราภรณ์ ศรีงาม. การให้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning). 
แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/jirapornsringam/kar-hi-hetuphl-baeb-xupnay-inductive-reasoning. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิราภรณ์ ศรีงาม. การให้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning). 
แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/jirapornsringam/kar-hi-hetuphl-baeb-nirnay-deductive-reasoning. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2557. เหตุผลวิบัติ. แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุผลวิบัติ. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

Unknown author. 2015. Denying the antecedent. 
Source : https://en.wikipedia.org/wiki/Denying_the_antecedent. Last seen 15 July 2015.

Unknown author. 2015. Affirming the consequent. 
Source : https://en.wikipedia.org/wiki/Affirming_the_consequent. Last seen 15 July 2015.