วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความที่ 4 : สเตอรอยด์และอันตราย

สารสเตอรอยด์และอันตราย

สเตอรอยด์ (steroid) เป็นสารชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยมีลักษณะเป็นลิพิด (lipid) ซึ่งประกอบด้วยวงแหวนคาร์บอนจำนวน 4 วง เชื่อมต่อกัน ประเภทของสารในกลุ่มสเตอรอยด์ได้แก่

1.    แอนนาบอลิก สเตอรอยด์ (anabolic steroid)

2.    คอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroid)

3.    ฮอร์โมนเพศ (sex hormone)

4.    โปรฮอร์โมน (prohormone)

5.    ไฟโตสเตอรอล (phytosterol)

สเตอรอยด์ ประเภทคอร์ติโคสเตอรอยด์และฮอร์โมนเพศมีความสำคัญคือเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex) ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีความสำคัญต่อร่างกาย ในทางการแพทย์ได้มีการสังเคราะห์สารเหล่านี้มาเพื่อใช้เป็นยาต้านอักเสบและแก้แพ้ ทำให้สามารถใช้รักษาโรคได้กว้างขวาง สำหรับรูปแบบของสเตอรอยด์ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์สามารถแบ่งออกหยาบๆตามรูปแบบของยาได้เป็นสองรูปแบบ

1.    สเตอรอยด์ประเภทใช้ภายนอก
เป็นสเตอรอยด์ที่มุ่งหวังในการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่โดยไม่จำเป็นต้องกินหรือฉีดยา ทำให้สามารถลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยาได้ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านี้ยังคงต้องใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลที่ไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างรูปแบบยาที่ใช้ภายนอกได้แก่
-         ยาทา ทั้งในรูปของครีม โลชัน หรือขี้ผึ้ง สำหรับรักษาผื่นแพ้ ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ-คัน สะเก็ดเงิน
-         ยาหยอดตาและยาหยอดหู สำหรับรักษาภูมิแพ้หรือการอักเสบที่ตาและหู
-         ยาพ่นจมูก สำหรับรักษาโรคภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก ริดสีดวงจมูก
-         ยาพ่นคอ สำหรับรักษาโรคหืด ภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการหอบ

2.    สเตอรอยด์ประเภทกินและฉีด
เป็นสเตอรอยด์ที่ต้องรับเข้าไปภายในร่างกาย เช่น การกินเข้าไป หรือการฉีดให้ทางผิวหนังหรือหลอดเลือด ใช้สำหรับการรักษาโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น อาการแพ้ที่รุนแรง อาการหืดที่รุนแรง หรือภาวะภูมิไวเกิน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตามการรับยากลุ่มนี้ในปริมาณมาก หรือได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะส่งผลต่อภาวะไม่พึงประสงค์ เช่น กดภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย ภาวะต้านอินซูลินหรือเบาหวานเทียม บวมน้ำและความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน รวมทั้งแผลหลุมในระบบทางเดินอาหาร การหย่อยยานของผิวหนัง ต้อที่ตา ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น
อันตรายที่สามารถพบได้จากการใช้สารกลุ่มสเตอรอยด์ ได้แก่

-         การติดเชื้อ
การใช้สเตอรอยด์ในขนาดที่สูงจะมีผลในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งบดบังอาการแสดงออกของโรคติดเชื้อ ทำให้ตรวจพบโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว

-         กดการทำงานของระบบที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน
เนื่องจากระบบที่ทำงานควบคุมการหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มนี้จะประกอบด้วย ฮัยโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และต่อมหมวกไต ในภาวะที่มีระดับของคอร์ติซอล (cortisol) ในกระแสเลือดสูงจะมีการไปกระตุ้นฮัยโปธาลามัสให้ส่งสัญญาณไปยังต่อมหมวกไตให้ลดการสร้างสเตอรอยด์ การให้ในปริมาณมากๆจะไปกดการทำงานของระบบเหล่านี้ เมื่อมีการหยุดให้ยาจะทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนชนิดนี้อย่างกระทันหัน

-         แผลในกระเพาะอาหาร
เนื่องจากสเตอรอยด์มีผลในการทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนของเก่าที่หลุดลอกไป ทั้งยังพบว่าสามารถทำให้มีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

-         ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและอารมณ์ได้ โดยการให้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอารมณ์มีความสุข ส่งผลต่อการติดยาได้ นอกจากนี้ยังพบภาวะอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนหลับดีเกินไป กระสับกระส่าย หงุดหงิด เครียด เป็นต้น

-         ภาวะไม่พึงประสงค์อื่นๆ
o   กระดูกพรุน
o   ยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
o   โปแทสเซียมในเลือดต่ำ
o   กล้ามเนื้ออ่อนแรง
o   ความผิดปกติที่ตา
o   ผลต่อผิวหนัง
o   Cushing’s syndrome

การใช้ยาสเตอรอยด์ต้องคำนึงถึงการใช้ปริมาณที่น้อยและระยะเวลาที่สั้น เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ได้รับสเตอรอยด์โดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก จากการพยายามขวนขวายหาซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพมากินเองจากการที่ไม่ค่อยมีเวลาไม่ว่า จะเป็นยาชุด ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรชนิดต่างๆ เนื่องจากบางครั้งพบการแอบผสมสารสเตอรอยด์ เช่น เดกซาเมธาโซน (dexamethasone) หรือเพรดนิโซโลน (prednisolone) ร่วมด้วยทำให้เห็นผลทางการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ที่รับประทานจึงเชื่อว่ายาสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่จริงแล้วตัวยาสเตอรอยด์ไม่ได้รักษาอาการผิดปกติโดยตรง และเมื่อได้รับยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ อาการไม่พึงประสงค์จะยิ่งแสดงออกมามากขึ้น จนทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆตามมา ข้อควรระวังในการใช้คือ

1.    ควรใช้เท่าที่จำเป็น อย่าพร่ำเพรื่อ อย่าใช้เป็นยาแก้ปวดหรืออักเสบโดยยังไม่ทราบสาเหตุ ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ปริมาณที่น้อยและระยะเวลาที่สั้น

2.    ควรรับประทานยาลดกรดควบคู่ด้วยทุกครั้งเพื่อป้องกันการระคายกระเพาะ

3.    ผู้ป่วยที่ใช้สเตอรอยด์ติดต่อกันนานๆ เมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆลดขนาดของยาลงทีละน้อย เพื่อให้ต่อมหมวกไตค่อยๆฟื้นตัวขึ้น หากหยุดยาโดยทันทีอาจเกิดอันตรายได้ กรณีผู้ติดยาชุดหรือยาลูกหลอนที่มีสเตอรอยด์เป็นเวลานาน เมื่อต้องการเลิกยาควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางในการลดปริมาณยาลง

4.    ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีสภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกพรุน ผู้มีประวัติวัณโรค ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

5.    ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร โรคติดเชื้อรา โรคติดเชื้อไวรัส ต้อหิน หรือผู้แพ้ยากลุ่มนี้

ข้อสังเกตว่ายาที่รับประทานอยู่อาจมีส่วนผสมของสเตอรอยด์คือ

1.     ทำให้อาการปวดเมื่อยหายอย่างรวดเร็ว รู้สึกสบายเนื้อสบายตัว

2.     เจริญอาหารมากขึ้น เห็นอะไรก็รู้สึกอร่อยไปหมด รับประทานอาหารได้เยอะขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

3.     นอนหลับได้ดี

4.     เมื่อใช้ยานานๆ จะรู้สึกว่าหน้าบวม หน้าแดง ผิวหน้าบางมองเห็นเส้นเลือดฝอย ขนและหนวดเยอะขึ้น ตัวอ้วนกลม แต่แขนขาเล็ก มีก้อนโหนกของเนื้อที่ต้นคอ

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสารสเตอรอยด์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้สารสเตียรอดย์เป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งร้านขายยาจะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ยกเว้น สารสเตีย-รอยด์ ที่นำไปใช้เป็นยาเฉพาะที่ กับผิวหนัง ตา หู คอ จมูก หรือปาก ซึ่งจัดเป็นยาอันตรายและจำหน่ายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิต ขายหรือนำเข้าสารสเตียรอยด์จะต้องจัดทำบัญชีซื้อ ขาย ไว้ด้วย รวมทั้งต้องรายงานปริมาณและมูลค่าการผลิต นำเข้ายาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการควบคุม ดูแล ภายใต้กฎหมายที่บัญญัติไว้ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามความผิดที่กระทำตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติยา ดังั้น

-         ขายยาชุดที่มียาสเตียรอยด์ผสมอยู่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-         ขายยาสเตียรอยด์โดยไม่มีใบสั่งยา (กรณีเป็นยาควบคุมพิเศษ) / เภสัชกรไม่ควบคุมการขายยาควบคุมพิเศษ ปรับ 1,000-5,000 บาท

-         ผู้ประกอบการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ปรับ1,000-5,000 บาท


-         ผู้ประกอบการรายงานการผลิต/การนำเข้าไม่ตรงกับความจริง หรือไม่รายงานมาที่สำนัก-งานคณะกรรมการอาหารและยา ปรับ 2,000-10,000 บาท

อ้างอิง

ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง. 2556. ปลอดภัยหรือไม่เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid). แหล่งที่มา : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/142/สเตียรอยด์-steroid-ใช้แล้วปลอดภัยหรือไม่. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ไม่ทราบชื่อเรื่อง. แหล่งที่มา : http://www.rcost.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=13%3A2010-01-28-07-23-10&catid=19&Itemid=109. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์ Steroid คือ อะไร. แหล่งที่มา : http://www.brand-a.com/05tips/steroid.html. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์. แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สเตอรอยด์. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. รู้จักสเตียรอยด์ดีหรือยัง. แหล่งที่มา : http://webnotes.fda.moph.go.th/consumer/csmb/csmb2546.nsf/723dc9fee41b850847256e5c00332fb4/0aedb8b0fe960133c7256cbb0025d1a9?OpenDocument. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. สเตอรอยด์ - Steroids. แหล่งที่มา : http://www.thailabonline.com/drug/drug20.htm. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ สเตียรอยด์. แหล่งที่มา : http://www.it-gateways.com/charoenvej/News/steroid.htm. ค้นเมื่อ 17 กรกฏาคม 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น