วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความที่ 3 : การให้เหตุผลอุปนัย นิรนัย และเหตุผลวิบัติ

              การให้เหตุผลอุปนัย นิรนัย และเหตุผลวิบัติ

        มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งบนโลกนี้เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นคือ มนุษย์รู้จัก การให้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดการค้นหาสิ่งใหม่ๆ และเป็นจุดเปลี่ยนซึ่งทำให้เกิดอารยธรรมของมนุษยชาติจากการรู้จักใช้เหตุผลเหล่านี้เอง

การให้เหตุผลทั้งทางคณิตศาสตร์และโดยทั่วไปมักมีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การให้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive reasoning) หรือการให้เหตุผลจากล่างขึ้นบน (bottom-up logic) หมายถึงการให้ข้อตั้งจากการสังเกตหรือทดลองหลายครั้งจากกรณีย่อยๆ แล้วสรุปเป็นความรู่ทั่วไป หรือกล่าวคือ การรวบรวมข้อมูลจากประชากรส่วนย่อย เพื่อนำไปเป็นข้อสรุปของประชากรส่วนใหญ่ เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 แดงเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แดงเป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 2                 ขาวเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขาวเป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 3                 ฟ้าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฟ้าเป็นคนดี
สรุป 1                      ดังนั้นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคนดี
ข้อตั้งที่ 4                 ดำเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สรุป 2                      ดังนั้นดำน่าจะเป็นคนดีเช่นกัน

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการให้เหตุผลแบบอุปนัย คือ 1. จำนวนของข้อมูล ควรมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่นำมาใช้เป็นข้อสังเกต หรือข้อตั้งที่มากพอต่อการสรุป 2. ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สังเกตต้องเป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากรที่ใช้เป็นข้อตั้ง

2. การให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive reasoning) หรือการให้เหตุผลจากบนลงล่าง (top-down logic) หมายถึงการนำเอาความรู้พื้นฐาน ซึ่งอาจเป็นกฎ ข้อตกลง หรือสิ่งที่ทราบมาก่อนและยอมรับว่าเป็นความจริงมาใช้เป็นข้อตั้ง เพื่อทำการสรุปภายในขอบเขตของข้อตั้งเหล่านั้น หรือกล่าวคือ การนำเอาสิ่งที่รู้มาก่อนและยอมรับว่าเป็นจริงของประชากรส่วนใหญ่ เพื่อนำไปใช้สรุปประชากรส่วนย่อย เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 ปลาทุกตัวว่ายน้ำได้
ข้อตั้งที่ 2                 ตะเพียนเป็นปลาชนิดหนึ่ง
สรุป 1                      ตะเพียนว่ายน้ำได้

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการให้เหตุผลแบบอุปนัย คือ ข้อตั้งหรือสิ่งที่ทราบมาก่อนซึ่งใช้อ้างอิงต้องถูกต้อง ไม่เช่นนั้นการสรุปผลจะผิด เช่น

ข้อตั้งที่ 1                 ปลาทุกชนิดมีเกล็ด
ข้อตั้งที่ 2                 ดุกไม่มีเกล็ด
สรุป 1                      ดุกไม่ใช่ปลา

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าข้อตั้งผิดพลาด เพราะปลาจะมีทั้งชนิดเกล็ดและหนัง เป็นต้น

นอกจากข้างต้นแล้วยังมีการให้เหตุผลอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมักพบในชีวิตประจำวัน คือ เหตุผลวิบัติ (fallacy) หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนหรือเป็นเท็จเพื่อใช้สนับสนุนข้อสรุป โดยมักจะมีความน่าเชื่อถือในเชิงจิตวิทยาทำให้เกิดการคล้อยตามหรือเข้าใจผิด เป็นต้น

การจำแนกเหตุผลวิบัติเชิงสาระโดยอริสโตเติลประกอบไปด้วย

1. การละทิ้งข้อยกเว้น (accident) เช่น
การกล่าวอ้าง: การใช้ปืนยิงบุคคลคืออาชญากรรม ตำรวจใช้ปืนยิงโจรผู้ร้าย ดังนั้นตำรวจก็เป็นอาชญากร
ปัญหาที่เกิด: การใช้ปืนยิงบุคคลไม่ใช่อาชญากรรมในสถานการณ์จำเพาะ เช่น สถานการณ์ป้องกันตัว หรือคุ้มครองผู้ที่ร้องขอการคุ้มครองตามกฎหมาย

2.การสรุปเหมารวม (converse accident) เช่น
การกล่าวอ้าง: คนไทยที่ฉันเคยเห็นทุกคนมีตาสีน้ำตาล ดังนั้นคนไทยทุกคนต้องมีตาสีน้ำตาล
ปัญหาที่เกิด: คนไทยทุกคนไม่ได้มีตาสีน้ำตาล เนื่องจากบางคนอาจเป็นคนเผือกทำให้มีตาสีฟ้า หรือมีเชื้อสายต่างชาติแต่ยังถือว่าเป็นคนไทยอยู่

3. การสรุปนอกประเด็น (irrelevant conclusion) เช่น
การกล่าวอ้าง: ฉันเชื่อว่าคนสามารถบินได้ ดังนั้นคนสามารถบินได้
ปัญหาที่เกิด: คนต้นคิดอาจคิดผิด และไม่ได้มีการให้เหตุผลว่าบินได้อย่างไร

กรณีอื่นๆเพิ่มเติม
o   การโจมตีบุคคล (appeal to the person)
นาย ก : ผมต้องการผลักดันนโยบายต้านคอรัปชั่น เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นาย ข : แต่คุณก็แอบรับสินบนนี่

o   การอ้างคนหมู่มาก (appeal to the majority)
การกล่าวอ้าง : ใครๆก็ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกันทั้งนั้นแหละ เราฝ่าไปก็ไม่เป็นไร
ปัญหาที่เกิด : ความคิดหรือการกระทำที่พบเห็นคนทำกันส่วนใหญ่อาจจะผิด

o   การอ้างความภักดี (appeal to loyalty)
การกล่าวอ้าง : แกเป็นลูกชั้น แกเป็นตำรวจ แกต้องช่วยให้ชั้นไม่ติดคุก
ปัญหาที่เกิด : อาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดหรือขัดแย้งต่อหน้าที่ได้

o   การอ้างอำนาจ (appeal to force)
การกล่าวอ้าง : ถ้าคุณไม่ทำตามคำสั่งผม ผมจะไล่คุณออก
ปัญหาที่เกิดขึ้น : การใช้อำนาจเป็นข้อตั้งแทนการใช้เหตุผล

o   การอ้างปฐมาจารย์ (appeal to authority)
คล้ายตัวอย่างในกรณีแรก

o   การขอความเห็นใจ (appeal to pity)
การกล่าวอ้าง : หนูไม่สบายและมีปัญหาที่บ้าน อาจารย์ต้องอย่าให้ F หนูนะค่ะ
ปัญหาที่เกิดขึ้น : เป็นการใช้ความสงสารเรียกร้องความเห็นใจ ทั้งๆที่ผู้พูดอาจไม่ได้ตั้งใจเรียนเพียงพอ หรือแค่ใช้เป็นข้ออ้างเฉยๆ

o   การอ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance)
การกล่าวอ้าง : ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าผีไม่มีจริง เพราะฉะนั้นผีมีจริง
ปัญหาที่เกิด : ยังไม่สามารถหาหลักฐานได้ จึงไม่สามารถยืนยันได้

o   เหตุผลวิบัติสืบทอด (genetic fallacy)
เป็นกรณีที่กล่าวอ้างถึงประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป

4. การยืนยันผลและปฏิเสธเหตุ (affirming the consequent and denying the antecedent)
การกล่าวอ้าง : ถ้านายเอเป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์ นายเอจะรวย -> นายเอรวย ดังนั้นนายเอเป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์ (ยืนยันผล)
ปัญหาที่เกิด : นายเออาจจะรวยจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของบริษัทเอ็กซ์

การกล่าวอ้าง : ถ้านายบีเป็นคนไทย นายบีเป็นคนมีมนุษยธรรม แต่นายบีไม่ใช่คนไทย นายบีจึงไม่มีมนุษยธรรม (ปฏิเสธเหตุ)
ปัญหาที่เกิดขึ้น : เป็นการอ้างเหตุที่ทำให้เกิดผล เมื่อไม่ได้มีเหตุดังกล่าว ดังนั้นจะต้องไม่มีผลด้วย

5. การทวนคำถาม (begging the question)
การกล่าวอ้าง : นาย ค เป็นคนไม่ดี เพราะว่านาย ค เป็นคนไม่ดี
ปัญหาที่เกิด : ข้อตั้งและข้อสรุปมีใจความอย่างเดียวกัน ไม่สามารถพิสูจน์ข้อตั้งได้

6. การยกเหตุผลผิด (false cause)
การกล่าวอ้าง : ฉันไม่ได้ยินเสียงคนอยู่ในห้องนี้ แสดงว่าในห้องนี้ไม่มีคนอยู่
ปัญหาที่เกิด : อาจจะสรุปผิด เนื่องจากในห้องอาจมีคนนอนอยู่ หรืออ่านหนังสืออยู่จึงไม่มีเสียง

รณีพิเศษ
เกิดหลังสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้
การกล่าวอ้าง : ฉันเจอหน้าเธอแล้วฉันก็ท้องเสีย ดังนั้นเธอทำให้ฉันท้องเสีย
ปัญหาที่เกิด สองเหตุการณ์ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน

เกิดพร้อมสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้
ช่วงหน้าร้อนคนนิยมไปเที่ยวทะเล และช่วงหน้าร้อนค่าไฟฟ้าแพง ดังนั้นการเที่ยวทะเลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
ปัญหาที่เกิดขึ้น : สองเหตุการณ์ไม่สอดคล้องกัน


7. การตั้งประเด็นซ้อน (complex question)
การกล่าวอ้าง : เธอเลิกยักยอกเงินเจ้านายหรือยัง ?
ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตอบอย่างไร จะนำไปสู่การยอมรับว่าเคยยักยอกเงินเจ้านาย

8. การทับถมจุดอ่อน
นางแมว : วันนี้ดีจังที่ฝนไม่ตก
นายหมา : ถ้าฝนไม่ตก เราก็จะไม่มีน้ำใช้น้ำบริโภค
ปัญหาที่เกิด : เป็นการเบี่ยงประเด็นแนวคิดโดยใช้แนวคิดอื่นทับถม

อ้างอิง

จารุวรรณ บุญชลาลัย. การให้เหตุผล. แหล่งที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18026. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. การให้เหตุผล (1). 
แหล่งที่มา : http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=86718. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. การให้เหตุผล (2). 
แหล่งที่มา : http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=86719. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2556. การให้เหตุผลแบบอุปนัย. 
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การให้เหตุผลแบบอุปนัย. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2556. การให้เหตุผลแบบนิรนัย. 
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การให้เหตุผลแบบนิรนัย. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. ความแตกต่างของการให้เหตุผลนิรนัย-อุปนัย. 
แหล่งที่มา : http://202.28.25.19/mpa12cmu/tmp/ความแตกต่างของการให้เหตุผลนิรนัย.pdf. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิณดิษฐ์ ละออปักษิณ และรตินันท์ บุญเคลือบ. การให้เหตุผลและตรรกศาสตร์. 
แหล่งที่มา : http://www.academia.edu/7102413/1. บทน า เรือ ง การใหเหตุผลและตรรกศาสตร. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

KhingSaGa (นามแฝง). 2558. การให้เหตุผลแบบอุปนัย-นิรนัย. 
แหล่งที่มา : http://khingkhingkhing.exteen.com/20150514/entry. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิราภรณ์ ศรีงาม. การให้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning). 
แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/jirapornsringam/kar-hi-hetuphl-baeb-xupnay-inductive-reasoning. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

จิราภรณ์ ศรีงาม. การให้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning). 
แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/jirapornsringam/kar-hi-hetuphl-baeb-nirnay-deductive-reasoning. ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. 2557. เหตุผลวิบัติ. แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุผลวิบัติ. 
ค้นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2558.

Unknown author. 2015. Denying the antecedent. 
Source : https://en.wikipedia.org/wiki/Denying_the_antecedent. Last seen 15 July 2015.

Unknown author. 2015. Affirming the consequent. 
Source : https://en.wikipedia.org/wiki/Affirming_the_consequent. Last seen 15 July 2015.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น